แผลติดเชื้อ (Infected Wound) คือ การเกิดรอยแดง เจ็บ หรือบวม และอาการเจ็บบริเวณบาดแผลมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงมีกลิ่นเหม็น มีเลือด หนอง หรืออาจเกิดเป็นตุ่มพุพอง ซึ่งสาเหตุเกิดจากการที่ดูแลแผลสดไม่ดีพอ ปล่อยให้แผลสัมผัสโดนสิ่งสกปรก จนเชื้อแบคทีเรีย เข้าสู่แผล และลุกลามไปทั่วเซลล์ผิวหนัง

            อย่างไรก็ตาม แผลในลักษณะนี้ นอกจากจะหน้าตาชวนสยองแล้ว ยังอันตรายกว่าที่คิด เพราะอาจทำให้เกิดติดเชื้อลุกลามจนเป็นโรคเนื้อเน่า เนื้อเยื่อตาย หรือหากติดเชื้อในชั้นลึกระดับเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ จะทำให้มีอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 17 – 49% เลยทีเดียว (ขึ้นกับโรคประจำตัวของผู้ป่วย และบริเวณของการติดเชื้อ) ดังนั้น ถ้าอยากลดความรุนแรงของแผลติดเชื้อ จะต้องดูแลรักษาแผลให้ถูกวิธีด้วยยาทาแผล และวิธีเหล่านี้

อย่าลืมล้างแผลก่อนใช้ยาทาแผล

            ก่อนจะเริ่มใช้ยาทาแผล หรือวิธีการใด ๆ ในการดูแลรักษา ควรล้างแผลให้ดีด้วยน้ำเกลือล้างแผล (0.9% Normal Saline Solution) เพื่อลดการปนเปื้อน และกำจัดสิ่งแปลกปลอมในแผล เพราะ “ความสะอาด” คือหัวใจสำคัญของการรักษาแผลติดเชื้อ หรือถ้าแผลเป็นหนองมาก ๆ ควรชะล้างด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) แล้วค่อยล้างด้วยน้ำเกลือ

ใช้ยาทาแผลปฏิชีวนะ

            หลังจากล้างแผลสะอาดแล้ว ให้ทาแผลด้วยยาทาแผลประเภทปฏิชีวนะอย่าง “มูพิโรซิน (Mupirocin)” ที่ช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ลดอาการอักเสบของผิวหนัง และช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ทำให้แผลสมานได้ไวขึ้น ลดโอกาสการเกิดแผลเป็นในภายหลัง เช่น แบคเท็กซ์ (Bactex) โดยสามารถใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ถ้าผู้ป่วยมีโรคเกี่ยวกับไต หรือกำลังตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

            ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทาแผลซัลฟา หรือเพนิซิลลิน เพราะอาจทำให้แผลเกิดการแพ้ คัน และมีหนองมากขึ้นได้

คุมอาหารควบคู่ใช้ยาทาแผล

            อีกหนึ่งวิธีที่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้ยาทาแผล คือ การทานอาหารที่เป็นประโยชน์ เพื่อดูแลรักษาแผลติดเชื้อ สร้างเนื้อเยื่อใหม่ และผลัดเซลล์ผิว ดังนี้

  • โปรตีนจากเนื้อสัตว์ ไข่ไก่ นม ถั่ว
  • ผักผลไม้ที่มีวิตามินเอ เช่น มะละกอ ผักบุ้ง ฟักทอง มะม่วงสุก แครอท แตงโม เป็นต้น
  • วิตามินซี เช่น ฝรั่ง ส้มเขียวหวาน ส้มโอ แอปเปิ้ล พุทรา สตรอว์เบอร์รี กีวี่ สับปะรด เป็นต้น
  • สังกะสี ในถั่วเมล็ดแห้ง และข้าวโพด
  • ธาตุเหล็ก ซึ่งพบได้ในบร็อคโคลี่ หน่อไม้ฝรั่ง ใบชะพลู ผักคะน้า กะหล่ำปลี ใบขี้เหล็ก ตับ และไข่แดง

ไม่แกะแผล

            นอกจากใช้ยาทาแผลและทานอาหารมีประโยชน์แล้ว ต้องไม่แคะ แกะ เกาแผลด้วย เพราะจะทำให้แผลติดเชื้อมากขึ้น จากมือที่ไม่สะอาด และอาจทำให้เกิดแผลเป็นตามมาได้

อย่าลืมพักร่างกายและเพิ่มความระมัดระวัง

            สุดท้ายคือการพักการใช้ส่วนที่เกิดบาดแผลให้มาก ๆ และระมัดระวังอย่าให้แผลโดนน้ำ หรือสิ่งสกปรกอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก รวมถึงหมั่นสังเกตบาดแผล และอาการของตัวเอง ถ้าใช้ยาทาแผลติดต่อกัน 3 – 5 วัน แล้วแผลยังไม่ดีขึ้น ร่วมกับมีไข้ หนาวสั่น หายใจไม่เต็มที่ หัวใจเต้นผิดปกติ เริ่มรู้สึกชาบริเวณบาดแผล แผลแตก ควรรีบพบแพทย์ทันที อย่าฝืนดูแลรักษาต่อเอง เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณอันตรายที่แจ้งเตือนว่าร่างกายกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต

            ทั้งหมดนี้คือสาระน่ารู้เกี่ยวกับยาทาแผล และวิธีการรักษาแผลติดเชื้อ ที่เรานำมาฝากกัน รับรองว่าจะช่วยให้การเป็นแผลติดเชื้อไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด